Thursday 9 September 2010

เมื่อฉันปะทะกับบ๋อย

ไม่กี่นาทีหลังจากกลับมาจากการรับประทานอาหารกลางวันโดยความตั้งใจเลือกไปที่ที่มีบรรยากาศดีอย่าง Paradise Park ที่เพิ่งเปิดต้อนรับชาวศรีนครินทร์ได้ไม่นาน ตั้งใจว่าจะไปหาความรื่นรมย์สักเล็กน้อยเพื่อลบอารมณ์ขุ่นมัวของยามเช้า (ของวันที่สองของสัปดาห์) ฉันก็พบตัวเองกำลังนั่งเขียนประสบการณ์ในร้านอาหารอย่างคล่องมือ เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ฉันได้ตระหนักอีกครั้งว่า บรรยากาศไม่ใช่ปัจจัยหลักปัจจัยเดียวที่จะทำให้อารมณ์คนเรานั้นดีขึ้น…. หรือแย่ลง เรื่องราวมันก็มีอยู่ว่า….
สามสาวแห่งสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งย่านศรีนครินทร์… เออ แต่ก่อนจะเล่าเรื่อง ขอปูพื้นด้วยแบ็คกราวด์ของทั้งสามสาวก่อน ทั้งสามเป็นอาจารย์สอนเกี่ยวกับการบริการและการท่องเที่ยว (ก็ไม่มีอะไรหรอกนะ แต่จะเก็บไปโยงในตอนท้ายของเรื่องนี้) ต้นตอเกิดจากนางหนึ่งในกลุ่มอยากไปหาสถานที่ทานข้าวมื้อเที่ยงที่ภิรมย์สักชั่วโมง ก็เลยเลือกที่จะไป Paradise Park พูดง่าย ๆ ก็คือห้างเสรีเก่านั่นเอง อีกนางหนึ่งในกลุ่มแนะนำว่า “กินที่ช่อม่วงมั้ย” “อืม ก็ดีนะ” นางที่อยากไปหาความภิรมย์ตอบกลับ ส่วนอีกนาง อย่าพูดถึงเค้าเลย ปล่อยนางไปกับความเจ็บป่วยจากการถอนฟันไปก่อนละกัน แต่คิดว่านางก็คงพอใจในคำแนะนำแหล่ะ ว่าแล้วเราก็ออกเดินทาง (อันใกล้) มุ่งหน้าไป Paradise Park…..
กว่าจะหาที่จอดรถได้ทำเอานางเจ้าของรถหมุนวนจนเมื่อย แต่ก็ไม่มีบ่น (แต่หิวแล้ว) ในที่สุดเราก็ได้ที่จอดใกล้บันได หลังจากจอดรถสนิทเข้าซอง ไม่รีรอ เดินไปยังร้านที่ชื่อว่า “ช่อม่วง” ทันที ระหว่างเดิน ขอบรรยายอะไรสักหน่อย ร้านต่าง ๆ บนชั้นนี้ก็น่ารักใช้ได้ทุกร้านเลย สังเกตได้ว่า บรรยากาศของแต่ละร้านจะอารมณ์ประมาณชิว ๆ ทั้งนั้น แต่ก็จะมีความชิวแต่ละแบบ ชิวแบบหรูหรา ชิวแบบย้อนยุค ชิวแบบร่วมสมัย ชิวแบบเมืองสมัยใหม่ หรือจะชิวแบบยกเอาอารมณ์ยุคโบราณของฝรั่งมาใช้ อย่าง style วิคตอเรีย (เราไม่มีซีเครทต่อท้ายนะคะอันนี้) ถ้าคุณพอจะนึกภาพของคอร์ทยาร์ด (Courtyard) กลางบ้านยุโรปแบบผู้ดี ประมาณนั้นแหล่ะ ที่นี่เล่นสีสันและอารมณ์อุปาทานของมนุษย์เยอะทีเดียว เล่นเอาคอนเส็ปต์แบบ living space มาใช้เต็มเหนี่ยว เราว่ายิ่งกว่าสยามพารากอน อาจเป็นเพราะว่าสยามพารากอนมองตลาดไฮโซกว่าที่นี่ แล้วอีกอย่าง ก็พอดี เทรนด์การออกแบบให้คล้ายกับเดินเล่นอยู่ในบริเวณบ้านหรือสวนสาธารณะกำลังมาแรง เสรีจึงกลายเป็น Paradise Park ที่ได้ใจหลายคนที่นี่เลย….
เอ๊าะ ! พอดีเลย เดินผ่านโรงหนังมาก็เจอร้านช่อม่วงพอดี ติดกับร้านขายก๋วยเตี๋ยว (ขอโทษค่ะ จำชื่อร้านไม่ได้) การตกแต่งร้าน โอเคนะ ทำให้นึกถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันเป็นบ้านที่บำรุงเลี้ยงดูสมองเรามาแต่วัยเยาว์ ร้านเน้นธีมสีม่วง-ขาว มองเพดานข้างบนซึ่งทำด้วยแผ่นฉลุรูปดอกไม้สีขาว มันก็พอดี เข้ากับแนวของร้านเลย ร้านนี้เสิร์ฟอาหารไทย อาหารหากดูจากสมุดเมนู (อันใหญ่มาก) ไม่ค่อยหลากหลาย แต่เราไม่ได้ซีเรียสอะไร โอเค… สั่งอาหารเลยดีกว่า ศึกษาเมนูอยู่พักหนึ่ง พลิกไปมา เอาอะไรดีล่ะ เอา “ข้าวไก่กรอบกับแกงส้ม” แล้วกัน แล้วก็มองหาเมนูน่าสนใจอีกสักอย่าง ก็พอดี ไปเจอเมนูหนึ่ง มีรูปภาพสีสดใส เน้น “แดง” (แหม ลืมเอากล้องถ่ายรูปไป ไม่งั้นจะถ่ายมาให้ดู) เห็นชื่อภาษาไทย บอกว่า “เห็ดออรินจิผัดโป๊ะ” ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Fried Oringi Mushroom with Seafood” (ถ้าจำไม่ผิดนะ แต่มีคำว่า seafood แน่นอน) อ๊ะ อ๊ะ! น่าสนใจ สั่งเลย ที่สั่งเพราะ…
1. คิดในใจว่า น่าจะมีความเผ็ดอยู่ เพราะคำว่า “โป๊ะ” (น่าจะลดรูปมาจาก “โป๊ะแตก” กระมัง และดูจากสีในเมนูที่แดงจัดจ้าน นอกจากนี้ สีมันให้ความรู้สึกถึงอารมณ์ซัลซ่าสลัด ดูน่ากินง่ะ2. คิดในใจว่า คงมี seafood ตามชื่อ
“โอเค น่าจะเวิร์ค” เราคิดในใจ แล้วก็เลยสั่ง
ไม่ช้านาน อาหารก็ค่อย ๆ ลำเลียงมาทีละอย่าง อืมดูดี จนมาถึงเมนู “เห็ดออรินจิผัดโป๊ะ” ตอนพนักงานมาเสิร์ฟตอนแรกไม่ทันได้สังเกต แต่สักพัก พอเริ่มจะตักอาหารเข้าปาก สมองก็ประมวลผลจากข้อมูลในอดีต (เมื่อไม่กี่นาทีที่แล้ว) กับข้อมูลใหม่ที่ได้รับ (ขณะที่ถือช้อนจะตักอาหารเข้าปาก) จับทั้งสองแม็ทชิ่งกัน ก็ตระหนักได้ว่า เอ๊ะ ทำไมอาหารที่เราได้กับภาพที่เราเห็นในเมนูช่างแตกต่างกันนัก (ขอพูดเป็นภาษาปะกิตตรงนี้ได้มั้ย……what a different!”) ใครอ่านตรงนี้ อย่าพึ่งคิดไปว่า “ภาพเค้าก็ต้องทำให้ดูน่ากิน มันเป็นเพียงภาพโฆษณา ของจริงไม่เหมือนเป๊ะ ๆ หรอก” เข้าใจหรอกประเด็นนั้น ก็ศึกษามาอยู่เรื่องการโฆษณา แต่เอ่อ… คือว่า มันต่างกันโดยสิ้นเชิงน่ะค่ะ ไม่พิรี้พิไร เรียกพนักงานทันที โทษฐานโฆษณากับผลิตภัณฑ์แสดงความต่างอย่างเห็นได้ชัดจนดิฉันรับไม่ได้ เรื่องปริมาณอาหารไม่ต้องพูดถึง เรารู้อยู่แล้วว่ามันต้องน้อยกว่าในรูป ไม่ใช่ประเด็นอยู่แล้วแหล่ะ แต่ที่เห็นตรงหน้าคือ (1.) สีของอาหารที่ไม่แดงเลย ออกจะซีด ๆ ตามสีของเห็ด แต่ไม่ได้โทษสีของเห็ดนะคะ แต่ภาพรวมของสีของอาหารมันไม่ได้ใจค่ะ แถมมีสีเขียวจากใบกระเพราเข้ามาผสมโรงอีก ดูไปมาเลยเหมือนเห็ดออรินจิผัดกระเพราในจานใบเก๋เสียมากกว่า แต่ภาพในสมุดเมนู ฉันแทบจะคิดว่า ผัดจานนี้ให้ความรู้สึกว่าฉันกำลังจะสั่งอาหารอะไรสักอย่างที่เผ็ดได้ใจและมีกลิ่นอายของ seafood แต่สิ่งที่ได้นั้น ไม่มีเค้าโครงของสิ่งที่แสดงในสมุดเมนูเลย เหตุปะทะคารมระหว่างฉันกับพนักงานก็เกิดขึ้น เราก็ไม่อยากใจร้ายกับน้องเค้า แต่ขอสักทีเถอะ ขอพูดในฐานะที่เป็นลูกค้าผู้ถูกภาพในเมนูอาหารของร้านหนึ่งในห้างเกิดใหม่หลอกให้สั่ง น้องตอบว่า “เออ… มันคงเป็นเพราะสีของพริกค่ะ บางวันพริกที่ได้ก็ไม่ใช่สีแดง” “อ่า…...” ฉันงง พร้อมคิดในใจ “แล้วทำไมไม่บอกก่อนตั้งแต่แรก” เห็นทีท่าว่าไม่ดี น้องเค้าเลยเดินกลับไปบอกพนักงานอีกคน ประมาณว่าคงไปบอกว่า “ช่วยไปคุยกับลูกค้าโต๊ะนั้นให้หน่อยสิ ท่าทางจะเรื่องมากเอาการ” แล้วพนักงานคนใหม่ (เป็นผู้ชาย) ก็เข้ามา “มีอะไรครับ” “อืมมมม บอกปัญหาไปตั้งเยอะ ทำไมไม่ไปถ่ายทอดกันก่อนมาหาเรา เหนื่อยนะที่ต้องเล่าอีกรอบ” ฉันคิด จากนั้น ฉันก็สาธยายอีกรอบ น้องเค้าไม่รีรอ เถียงทันที มันคนละเมนู ฉันเลยคิดว่า อ๊ะ อ๊ะ ไม่ได้การ เอาหลักฐานมายันกันดีกว่า แล้วฉันก็ขอเมนู และชี้ตรงชื่อภาษาไทยว่า “เห็ดออรินจิผัดโป๊ะ” น้องเค้ายังคงเถียง บอกว่า “ไม่ใช่นะครับ มันคนละเมนูกัน” แหม มันจะคนละเมนูได้ไง ฉันบอก แล้วก็เลยชี้ให้ดูดีดีอีกรอบ แต่คราวนี้ชี้ไปที่ชื่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เมนูนี้ชื่อ “Fried Oringi Mushroom with Seafood” คำสำคัญในนี้ คือคำว่า “seafood” แต่ไม่มี seafood เลย แถมสีของอาหารก็ไม่ได้ จากนั้น สักพัก น้องเค้าก็ใช้สูตรการ “Dealing with Customer’s Complaints” หรือ สูตรการจัดการกับคำ comment และปัญหาของลูกค้าในอุตสาหกรรมบริการ ว่า “งั้นจานนี้คืนก็ได้นะครับ ไม่คิดเงิน” ฉันก็เลยยิ่งโมโหใหญ่ เลยบอกไปว่า “ไม่ต้องคืนค่ะ กินได้ไม่เป็นไร แล้วก็คิดเงินตามปกติแหล่ะ แต่ประเด็นคือ พี่แค่จะบอกว่า ในอนาคต ขอให้ปรับปรุงเรื่องความสอดคล้องของภาพเมนูกับของจริงให้มีความคล้ายกันอยู่บ้างก็ยังดี ในฐานะลูกค้า มีอะไรที่ไม่ตรงกับความคาดหวัง ก็ต้องขอถามเป็นธรรมดา พนักงานเองก็อย่าคาดหวังแต่ว่า ลูกค้าต้องการจะขอเงินคืนอย่างเดียว มันไม่ใช่ค่ะ เพราะลูกค้ามากับความคาดหวังและยิ่งความคาดหวังของอาหารเกิดจากภาพเมนูที่เห็น ก็แสดงว่า การทำภาพโฆษณาและแนะนำสินค้าของคุณน่ะดีแล้ว แต่คุณก็ต้องสร้างความมั่นใจว่าคุณจะทำสินค้าให้ออกมาได้อย่างน้อยก็ให้รูปลักษณ์มันคล้ายคลึงกับภาพเสียหน่อย ยังไม่ต้องพูดถึงรสชาติ เพราะภาพบอกเราไม่ได้อยู่แล้ว” (แต่รสชาติก็เฉย ๆ นะ) พูดจบ ก็หยอดไปอีกนิดเพื่อบอกให้รู้ว่าเป็นการจบการสนทนา ว่า “โอเคนะคะ” (น้องแคทมาเอง)
จบกระบวนการโต้ตอบกับพนักงานแล้ว เกิดอะไรดลใจไม่รู้ หันกลับมาดูเมนู “ข้าวไก่กรอบกับแกงส้ม” ที่กำลังทาน เอ๊ะ! ที่เรากินนี่มันหมูทอดหรือไก่ทอดกรอบกันแน่นะ (ฮา) แล้วก็พูดกับนาง ๆ ในกลุ่มว่า “ฉันไม่ได้ผิดใช่มั้ย ที่พูดไปอย่างนั้น ฉันแค่ติเพื่อก่อ....” นาง ๆ ก็บอก “ถูกต้อง……” “เป็นอันย้ำความมั่นใจว่าฉันไม่ได้ใจร้ายเกินไป” ฉันคิดหลังจากนั่งนิ่งฟังบนสนทนา (อันค่อนข้างเป็นวิชาการ) ระหว่างฉันกับพนักงาน (2 คนนั้น) นางหนึ่งในกลุ่มก็เลยสนับสนุนต่อว่า “เมื่อกี้ก็เหมือนกัน เราขอน้ำอุ่น ๆ หน่อย ไม่อยากดื่มน้ำเย็น น้องเค้าก็ถามว่า ‘น้ำอุ่นไม่มี มีแต่น้ำร้อนครับ งั้นเดี๋ยวเอาน้ำเย็นผสมนะครับ’ ……!!.....
…… “เออ.. คือว่า เดี๊ยนไม่ต้องการรับรู้กระบวนการค่ะ เพราะกระบวนการนี้มันคงเบสิกมาก ๆ เดี๊ยนต้องการผลผลิตเท่านั้นแหล่ะค่ะ…” ฉันคิด
……. “เออ… เราอินเกินไปกับการสอนรึเปล่านะ เลยติดมาใช้กับบ๋อย….คงต้องลองสอบถามเพื่อน ๆ ดูบ้างแล้วกระมังว่าเคยเป็นกันอย่างนี้บ้างมั้ย..” แต่อย่างหนึ่งที่ฉันจะบอกก็คือว่า บางครั้งประโยคที่ว่า “That’s fine. Everything is OK.” “อะไรก็ได้ ไม่เป็นไรค่ะ” มันก็ใช้ไม่ได้นะสมัยนี้